Double Dip

เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวตามความกังวลจากประเด็นเรื่องเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวร่วงลงแรงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังมีแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในเดือน ก.ค. แล้ว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011 เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อท่ามกลางความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย

INDEGO Market Outlook August 2022

เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวตามความกังวลจากประเด็นเรื่องเงินเฟ้อที่ลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวร่วงลงแรงจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังมีแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในเดือน ก.ค. แล้ว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011 เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อท่ามกลางความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย

 

ด้านภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวลงต่อเนื่องแม้ว่าความคาดหวังด้านเงินเฟ้อสูงจะเริ่มลดลงตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ความเสี่ยงก็คือการชะลอตัวของเงินเฟ้อในรอบนี้จะเริ่มเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เริ่มลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยนอกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับตัวลดลงแล้ว ภาคอสังหาฯ ที่เริ่มชะลอตัวจากความร้อนแรงมาในช่วงก่อนหน้าและตลาดแรงงานที่เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวอาจเริ่มเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อในระยะถัดไป และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งหลังจากที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยหากวิเคราะห์ภาพการลงทุนตามวัฏจักรเศรษฐกิจแล้ว ปัจจุบันเรามีแนวโน้มสูงที่จะอยู่ในช่วง Late Cycle (ปลายวัฏจักร) ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาสินทรัพย์ทั้งสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นยังสามารถปรับตัวลดลงต่อได้ ในขณะที่ตราสารหนี้ที่มีการปรับตัวลดลงมาแล้วในช่วงก่อนหน้าตามการขึ้นดอกเบี้ยจะเริ่มใกล้เข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อที่เริ่มลดความร้อนแรงลง และนโยบายการเงินที่จะเริ่มลดความเข้มงวดลงในระยะถัดไป โดยตราสารหนี้ภาครัฐเริ่มมีความน่าสนใจหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

 

ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย เรามองว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมี Downside ที่สามารถปรับตัวลดลงได้ต่อ ด้วยการประเมินดัชนี S&P500 ด้วยวิธี Earning Yield Gap สะท้อนว่าปัจจุบันตลาดยังมีส่วนชดเชยความเสี่ยงที่น้อยเกินไป โดยหากตลาดกลับไปซื้อขายด้วย Earning Yield Gap บริเวณค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี และประมาณการกำไรของตลาดเริ่มถูกปรับลดคาดการณ์แต่ยังเติบโตได้ตามค่าเฉลี่ยระยะยาว จะประเมิน Downside ของ S&P500 ได้ที่ระดับประมาณ 8-10% หรือเป้าหมายดัชนี S&P500 ที่บริเวณ 3,600 จุด ขณะที่ถ้าประมาณการกำไรของดัชนีเริ่มถูกปรับลดลงเป็นหดตัวประมาณ 10% มีโอกาสที่ดัชนีจะมี Downside ที่ระดับ 20-25% หรือเป้าหมาย S&P500 ที่บริเวณใกล้เคียง 3,000 จุด โดยการปรับตัวลดลงของตลาดในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากการปรับลด Multiple ทาง Valuation หรือการปรับเพิ่มส่วนชดเชยความเสี่ยงเป็นหลักตามการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยยังไม่ได้สะท้อนผลกระทบของการปรับลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนลงตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

 

ด้านเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวได้แม้จะผ่านช่วงที่มีการล็อกดาวน์มา โดย GDP จีนไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมาขยายตัวอยู่ที่ 0.4% (YoY) ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ GDP ครึ่งปีแรกของปี 2022 เติบโตเพียง 2.5% ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 5.5% อีกมาก ขณะที่ตัวเลขดัชนียอดค้าปลีกและดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. ออกมาขยายตัวที่ 3.1% (YoY) และ 3.9% (YoY) ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและการผลิตที่ชัดเจนซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีน โดยตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงเริ่มมีการถูกปรับเพิ่มประมาณการกำไรกลับมาตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความเสี่ยงที่ยังท้าทายยังมีอยู่หลายประเด็นที่ต้องติดตาม ทั้งความกังวลด้าน Bank Run การหยุดชำระหนี้ภาคอสังหาฯ ตลอดจนความเสี่ยงของการรั่วไหลข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีที่อาจส่งผลต่อการถูกลงโทษจากรัฐบาล

 

สำหรับมุมมองของเราในเดือนนี้ เรายังแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในแนวโน้มขาลงจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและนโยบายการเงินที่เข้มงวด ขณะที่เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อตราสารหนี้โลกโดยเฉพาะกลุ่มพันธบัตร โดยแนะนำทยอยสะสมเพิ่มขึ้นหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มท่ามกลางแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ โดยเรายังมองว่าการกระจายน้ำหนักการลงทุนอย่างเหมาะสมจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตมากขึ้นในช่วงที่ตลาดยังคงผันผวน

  • SHARE
Contact
Contact