Higher for Longer
เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่กลับมาปรับตัวลดลงจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังดำเนินต่อไป หลังจาก ประธาน Fed ออกมายืนยันถึงความต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงตามเป้าหมายที่ระดับ 2% แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่บางตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกระแสการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ เช่น เวียดนาม ไทย และอินเดีย โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดย Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในเดือน ก.ค. ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และ ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% และ 0.25% ตามลำดับในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.05% มาที่ 3.65%
เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่กลับมาปรับตัวลดลงจากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังดำเนินต่อไป หลังจาก ประธาน Fed ออกมายืนยันถึงความต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงตามเป้าหมายที่ระดับ 2% แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ประกอบกับตลาดยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่บางตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกระแสการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ เช่น เวียดนาม ไทย และอินเดีย โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง โดย Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในเดือน ก.ค. ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และ ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% และ 0.25% ตามลำดับในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.05% มาที่ 3.65%
ตัวเลขเงินเฟ้อ (PCE) ในสหรัฐฯ ไม่ทำจุดสูงสุดใหม่ในเดือน ก.ค. ด้วยการลดลงของราคาสินค้าประเภทพลังงานเป็นหลัก แต่ราคาอาหารและเงินเฟ้อในภาคบริการต่างๆ ยังไม่ปรับตัวลง เช่น ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย การศึกษาและการดูแลสุขภาพที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่งผลให้ Core PCE มีการปรับตัวขึ้น 0.1% (MoM) โดยสะท้อนไปยังเงินเฟ้อระยะยาวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เรามองว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไป รวมถึงจะทำให้ Fed ยังใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไปยาวนานขึ้น
เศรษฐกิจโลกยังคงมีสัญญาณการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องสะท้อนผ่านตัวเลขยอดการส่งออกของเกาหลีใต้ ซึ่งอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2021 เช่นเดียวกับตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการในหลายประเทศชั้นนำที่เติบโตแบบชะลอตัวลงพร้อมกัน แม้ภาคการบริการบางประเทศยังขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยมีปัจจัยกดดันใหม่จากภาวะภัยแล้ง และค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศจากการขาดแคลนพลังงาน การใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตลอดจนการส่งสัญญาณของทิศทางผลประกอบการโดยผู้บริหาร และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นโลกให้มีความเสี่ยงทางด้านขาลงและยังผันผวนในระยะถัดไปอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐฯ มีความคืบหน้าในการผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ด้วยงบประมาณ 4.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยบวกให้กับหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดในระยะยาว นอกจากนี้ยังขยายระยะเวลา Affordable Care Act (ACA) อีก 3 ปีจนสิ้นสุดปี 2025 โดยเงินทุนหลักสำหรับงบประมาณนี้จะมาจากการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% จากบริษัทที่มีกำไรมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เงินทุนให้กับ Internal Revenue Service (IRS) และการเก็บภาษี 1% ของการซื้อหุ้นคืน ซึ่งมีผลกระทบต่อกำไรบริษัทใน S&P500 อยู่ในระดับที่จำกัด อีกทั้งยังอนุญาตให้รัฐบาลเจรจาเพื่อลดราคายาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ (Prescription Drug) ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณในการซื้อยา โดยเป็นปัจจัยกดดันต่อหุ้นกลุ่มยาในช่วงสั้น นอกจากนี้ยังมีการผ่านร่างกฎหมาย CHIPS And Science Act เพื่อกระตุ้นศักยภาพทางการแข่งขันของสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นการกีดกันด้านเทคโนโลยีกับจีน แต่เป็นปัจจัยบวกให้กับกลุ่มจำหน่ายเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์
ด้านแรงกดดันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ กลับมาตึงเครียดเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจาก แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และคณะผู้แทนรัฐสภาสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวัน ซึ่งเรามองว่าเป็นความต้องการในการขัดขวางการขยายอิทธิพลและการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน รวมถึงเป็นการเรียกคะแนนเสียงก่อน Mid-term Election โดยเรามองว่าความตึงเครียดดังกล่าวมีแนวโน้มดำเนินต่อไปจนถึงปี 2024 ที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ของไต้หวันและสหรัฐฯ โดยเรามองว่ามีโอกาสการเกิดสงครามที่รุนแรงได้น้อยเนื่องจากทั้งจีนและไต้หวันน่าจะยังให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
สำหรับมุมมองของเราในเดือนนี้ เรายังแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในแนวโน้มขาลงจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและนโยบายการเงินที่เข้มงวด ขณะที่เรามีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อตราสารหนี้โลกโดยเฉพาะกลุ่มพันธบัตร โดยแนะนำทยอยสะสมเพิ่มขึ้นหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ โดยเรายังมองว่าการกระจายน้ำหนักการลงทุนอย่างเหมาะสมจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตมากขึ้นในช่วงที่ตลาดยังคงผันผวน