The Only One Target

เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% และส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปและยาวนานขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย 2% โดย Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.25-4.5% ในปีนี้และ 4.50-4.75% ในปีหน้า ทั้งยังส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มากขึ้น ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และ ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% 0.50% และ 0.25% ตามลำดับในเดือน ก.ย. เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบของค่าเงินอ่อนค่า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป และเริ่มมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน หลังค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี ด้านธนาคารกลางจีน (PBoC) ยังคงอัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปีที่ 3.65% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

INDEGO Market Outlook October 2022

เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% สู่ระดับ 3-3.25% และส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปและยาวนานขึ้นเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย 2% โดย Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 4.25-4.5% ในปีนี้และ 4.50-4.75% ในปีหน้า ทั้งยังส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มากขึ้น ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และ ธปท.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% 0.50% และ 0.25% ตามลำดับในเดือน ก.ย. เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบของค่าเงินอ่อนค่า ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไป และเริ่มมีการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน หลังค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี ด้านธนาคารกลางจีน (PBoC) ยังคงอัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปีที่ 3.65% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดก็คือ ตัวเลขดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภคพื้นฐาน (Core PCE) ที่สะท้อนตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานในฝั่งผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 4.6% (YoY) โดยยังคงปรับตัวขึ้นจากปัจจัยด้านค่าเช่าที่ปรับตัวขึ้นกว่า 7% (YoY) ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลยังปรับตัวขึ้นเพียง 2.4% (YoY) โดยเรามองว่า Core PCE สหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีหน้าสู่ระดับราว 3% จากอัตราการเติบโตของค่าเช่าที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ค่าบริการด้านการเงินที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดหุ้น ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลที่มีสัดส่วนมากเป็นอันดับสองรองจากค่าเช่ายังมีแนวโน้มเร่งตัวเพิ่มขึ้น โดยเราคาดว่า Fed Fund Rate มีแนวโน้มอยู่ที่ระดับราว 4.5% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี อยู่ในกรอบ 4.06-4.65% อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์เงินเฟ้อเข้ากรณีเลวร้าย ตัวเลข Core PCE และ Fed Fund Rate มีโอกาสที่จะอยู่ที่ระดับ 4.1% และ 6% ตามลำดับ โดยเรามองว่าผลของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรการ QT จะเริ่มกดดันตราสารหนี้ลดลงหลังจากนี้ แต่จะยังกดดันตลาดหุ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเราประเมินความเสี่ยงขาลงของดัชนี S&P500 ที่ระดับกรอบ 2,700-3,200 จุด ด้วยวิธี Earning Yield Gap

 

ด้านปัจจัยการเมืองภายในประเทศของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเนื่องจากในช่วงวันที่ 8 พ.ย. นี้จะมีการเลือกตั้งกลางสมัย (Mid-term Election) โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ในทุกเขตการเลือกตั้ง และจะมีการเลือกตั้ง ส.ว. ใหม่ประมาณ 1 ใน 3 หรือจำนวน 35 ที่นั่ง เป็นการเลือกตั้งในรัฐที่เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน พรรคเดโมแครต และ Swing States จำนวน 15 9 และ 11 ที่นั่ง ตามลำดับ โดยพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มสูงที่จะสูญเสียเสียงข้างมากในสภาใดสภาหนึ่งสะท้อนผ่านคะแนนความนิยมของโจ ไบเดนที่อยู่ในระดับต่ำหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งการสูญเสียเสียงข้างมากในสภาของเดโมแครตอาจส่งผลต่อการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ ได้ยากมากขึ้น แต่ผลกระทบดังกล่าวน่าจะอยู่ในระดับที่จำกัดเนื่องจากรัฐบาลเดโมแครตได้มีการออกมาตรการสำคัญต่างๆ ไปมากพอสมควรแล้ว

 

ด้านประเด็นสำคัญในจีนที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้าก็คือการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในช่วงวันที่ 16-23 ต.ค. นี้ซึ่งจะเป็นการประชุมใหญ่ที่จะจัดขึ้นทุก 5 ปี และจะเป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ คณะกรรมการผู้บริหารและแนวทางนโยบายอีก 5 ปีข้างหน้า โดยประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาก็คือการคัดเลือกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคใหม่และคณะกรรมการตรวจสอบวินัยของคณะกรรมการกลางพรรคฯ ชุดใหม่ ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาต่ออายุการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ของ ปธน. สี จิ้นผิง การพิจารณานายกรัฐมนตรีคนใหม่ การพิจารณาการใช้มาตรการ Zero-COVID และแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป สถานะความสัมพันธ์และแนวการฑูตระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับไต้หวันและฮ่องกง

 

อีกประเด็นที่ช่วงหลัง ตลาดจับตากันมากขึ้นคือการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ที่ยังกดดันให้สกุลเงินทั่วโลกอ่อนค่า โดยในส่วนของค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องหลังไทยยังมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ ที่สูงมากขึ้นและยังเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยคาดว่าจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปีหน้าจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

 

สำหรับมุมมองของเราในเดือนนี้ เรายังแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในแนวโน้มขาลงจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยและนโยบายการเงินที่เข้มงวด และแนะนำทยอยสะสมกองทุนตราสารหนี้โลกเพิ่มขึ้นหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ โดยเรายังมองว่าการกระจายน้ำหนักการลงทุนอย่างเหมาะสมจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับพอร์ตมากขึ้นในช่วงที่ตลาดยังคงผันผวน

  • SHARE
Contact
Contact