A Year After Crisis

ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ตลาดปรับตัวเข้าสู่ขาลงในช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และรวดเร็วเพื่อที่จะพยุงเศรษฐกิจ โดยมาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทต่างๆ ตลอดจนมาตรการที่ช่วยเหลือการว่างงานของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและธนาคารกลางก็พร้อมที่จะเข้าไปประคองระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ทำให้ตลาดมองว่าเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะการฟื้นตัว หนุนด้วยการอัดฉีดเงินจากภาครัฐ เกิดภาวะ Reflation รวมทั้งสภาพคล่องที่ล้นตลาด ที่ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาจากจุดต่ำสุดได้อย่างต่อเนื่อง

INDEGO Monthly Outlook March 2021
Full PDF version

ในช่วงที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ฟื้นตัวขึ้นและสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่าหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องไปกับที่ IMF ประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2020-2021 จะถูกขับเคลื่อนมาจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตามเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาสินทรัพย์เสี่ยงหลายประเภทปรับตัวลดลงจากแรงขายทำกำไร แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มฟื้นตัว สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 4/2020 ของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกทั้งล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้อนุมัตินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วยวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Breakeven Inflation Rate) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และตลาดเข้าสู่สภาวะ Risk-off นอกจากนี้การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงนั้นเกิดจากการที่ตลาดกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางทั่วโลกออกมาย้ำจุดยืนที่จะดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อไปเพื่อประคองตลาด โดย เจอโรม พาวเวล ประธาน Fed ออกมาแถลงต่อสภาคองเกรสพร้อมเรียกความเชื่อมั่นต่อตลาด โดยกล่าวว่าจะใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านการจ้างงาน ขณะที่ คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB เผยว่ากำลังติดตามประเด็นการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอย่างใกล้ชิดและอาจเข้ามาแทรกแซงตลาดตราสารหนี้ในอนาคต ด้าน BoJ เผยว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเห็นสมควรที่จะใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อประคองตลาดต่อไป

ด้านสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง หลังมีการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนจากบริษัท Johnson & Johnson แบบฉุกเฉินเพิ่มอีกหนึ่งตัวซึ่งเป็นตัวที่ 3 ในสหรัฐฯ ขณะเดียวกันสหรัฐฯ และอังกฤษก็มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตามบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนหลายแห่งเริ่มเผชิญปัญหากำลังการผลิตที่เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

สำหรับประเด็นสำคัญในรายภูมิภาค ในฝั่งสหรัฐฯ เรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการควบคุมโควิดภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพขึ้น ด้านเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มดีขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในแต่ละประเทศที่เริ่มทรงตัว ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นหลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer และทยอยยกเลิกภาวะฉุกเฉินในเมืองที่สำคัญ ด้านเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยภาคการบริโภคยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังมีข่าวดีเรื่องวัคซีนและมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่ภาระหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของ COVID-19 ยังเป็นข้อจำกัด

            สำหรับในเดือนนี้เราแนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีน หุ้นอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ IMF คาดการณ์ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ต้องจับตาการปรับฐานในช่วงนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมหุ้นพลังงานสะอาด หุ้นโลกขนาดกลางและขนาดเล็ก และหุ้นเวียดนามที่ปรับฐานลงมามองเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนระยะยาวจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

  • SHARE
Contact
Contact