“WHATEVER IT TAKES”

เกือบทุกสินทรัพย์ฟื้นตัวแรงจากเดือนที่แล้ว นำโดยหุ้นสหรัฐฯ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงแรงสู่แดนลบหลังเจอภาวะอุปทานล้นตลาดจากอุปสงค์ที่ลดลงอย่างรุนแรง

INDEGO Monthly Outlook
May 2020
Full PDF version

เดือนที่ผ่านมาเกือบทุกสินทรัพย์ฟื้นตัวขึ้นอย่างรุนแรงหลังจากธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ทั้งรุนแรงและรวดเร็วเพิ่มเติมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะพยุงเศรษฐกิจ โดยมาตรการส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทต่างๆ ตลอดจนมาตรการที่ช่วยเหลือการว่างงานของประชาชน ซึ่งมาตรการที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดได้มากกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การประกาศเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้ประเภท High Yield ด้วย ตลอดจนการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนถึงมาตรการเชิงรุกแบบ Whatever It Takes ที่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น Fed ก็พร้อมที่จะเข้าไปอุ้มระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ทำให้นักลงทุนในตลาดเริ่มมองว่าภาพ Worst Case ของการผิดนัดชำระหนี้และภาวะ Credit Crunch ที่รุนแรงแบบในอดีตมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงในระยะสั้น

มากไปกว่านั้นสภาพคล่องที่กลับมาล้นตลาดอีกครั้ง ส่งผลให้เม็ดเงินไหลไปยังสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ล็อกดาวน์ครั้งนี้ที่มีการกลับตัวขึ้นไปอย่างรุนแรง ประกอบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เริ่มมีการชะลอตัวลง ทำให้หลายประเทศเริ่มที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมกันทะลุ 3.2 ล้านคนไปแล้ว

อย่างไรก็ตามหากเราพิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ครั้งนี้ จะเห็นได้ถึงความรุนแรงที่มากที่สุดนับตั้งแต่หลังวิกฤต The Great Depression ในปี 1930 ซึ่ง IMF มีการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวรุนแรงถึง 3% และเกิดปัญหาการว่างงานครั้งใหญ่ขึ้นทั่วโลก เห็นได้จากสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ตกงานภายใน 5 สัปดาห์ติดต่อกันทะลุถึง 26 ล้านคนไปแล้ว

มากไปกว่านั้นราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงรุนแรงจนกระทั่งเราได้เห็นราคาของสัญญาซื้อขายน้ำมัน WTI ติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จากภาวะอุปทานล้นตลาดในสภาพที่ความต้องการใช้น้ำมันก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญญาณอันตรายของภาวะเศรษฐกิจและอาจจะได้เห็นบริษัทด้านพลังงานล้มละลายตามมาอีกเช่นกัน

นอกจากนั้นปัญหาของการผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลกหลังจากนี้ที่จะตามมาในระยะกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีเครื่องมือทางการเงินที่จำกัดยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม สำหรับปัญหาระยะยาวที่นิ่งนอนใจไม่ได้อีกอย่างหลังจากนี้ คือ ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในสังคมทั่วโลกที่ดูเหมือนจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดวิกฤตทางด้านการเมืองและสังคมตามมาได้เช่นกัน เช่นเดียวกันกับปัญหาหนี้สินและระบบเงินตราของโลกในระยะยาวที่อาจเสื่อมถอยลงจากการใช้มาตรการทางการเงินที่สุดโต่ง

ถึงแม้ว่าเราจะได้เห็นการฟื้นตัวของหลายสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา แต่เราก็ยังคงมุมมองเชิงระมัดระวังและไม่ประมาท เนื่องจากการฟื้นตัวในครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ Bear Market Rally หรือการฟื้นตัวในระยะสั้น เนื่องจากเราน่าจะได้เห็นผลกระทบของการบริโภคที่หายไปและจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงครั้งนี้ เช่นเดียวกับลักษณะการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วง The Great Depression ที่ตลาดปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในรอบแรก ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นแรงกว่า 48% หลังจากนั้นตลาดก็ได้ปรับตัวลดลงสลับกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกินระยะเวลากว่าหลายปีถึงจะจบขาลงของตลาดหุ้นที่สมบูรณ์ อีกทั้งทั่วโลกยังมีความเสี่ยงที่จะเจอกับการระบาดของไวรัสระลอกใหม่ได้เสมอ ในช่วงเวลาเช่นนี้จึงยังเป็นช่วงเวลาที่เรามองว่าควรระมัดระวังและรอประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังจากการเปิดเมืองไปแล้วว่าจะมีผลเป็นอย่างไร

สำหรับในเดือนนี้เรายังคงมุมมองเชิงระมัดระวังในการลงทุนโดยให้กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นหลัก และแนะนำให้นักลงทุนเริ่มทยอยกระจายการลงทุนไปยังกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นคุณภาพดีบางส่วนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนหลังจากมีมาตรการของ ธปท. ที่สนับสนุนให้ตลาดตราสารหนี้เริ่มมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น และรอจังหวะในการทยอยเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่ม New Economy ที่ได้ประโยชน์ในโลกยุคใหม่จากวิกฤตครั้งนี้

100% Awesomeness

100%

100% Brooklyn

100%
  • SHARE
Contact
Contact